เหตุผลเปลี่ยนงานบ่อย

Job Hopper คืออะไร เปลี่ยนงานบ่อยมีผลเสียไหม เหตุผลเปลี่ยนงานแบบไหนถึงจะดี

 

Job Hopper คือ มนุษย์เงินเดือนที่ทำการเปลี่ยนงานบ่อยครั้งในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งในระยะเวลาไม่ถึง 1 หรือ 2 ปี และทำการ hopping (กระโดด) เพื่อการเติบโต หรือการเพิ่มตำแหน่งที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ  ซึ่งมีผลดีและผลเสีย คือ การเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งเงินเดือนและตำแหน่ง แต่หาก Proflie เปลี่ยนงานบ่อยก็อาจจะส่งผลต่อการรับเข้างานของบริษัทต่างๆ ในอนาตคได้ หรือการกระโดดไปในตำแหน่งงานที่สูงเกินความสามารถและยังเติมทักษะไม่ทันก็จะทำให้ไม่ผ่านทดลองงานในตำแหน่งงานที่ก้าวไป หรือต้อง hopping ต่อไป

การเปลี่ยนงานบ่อยมีผลต่อสายอาชีพไหม คำตอบคือ มีผล แต่ไม่เสมอไป การเปลี่ยนงานบางบริษัทอาจมองเป็นสิ่งไม่ดี แต่บางบริษัทก็มองว่าไม่ได้แปลกแต่อย่างใด มองว่าการเปลี่ยนงานมาหลายๆ ที่อาจช่วยบริษัทได้มากกว่า อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนงานโดยไม่ครบปี จะถูกมองว่า “เราอาจไม่สู้งาน หรือทำงานไม่ได้” เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เมื่อรับคนเข้าทำงานก็คาดหวังให้อยู่กับองค์กร 3-5 ปี เพื่อทำงานและได้พัฒนางานในตำแหน่งงานที่พนักงานเข้าไป ทั้งนี้หากมอง วัฏจักรการทำงานสำหรับพนักงานอาจมองได้ดังนี้

  • การทำงาน 1-2 ปี คือ การเรียบรู้งานถ่ายทอดงานจากคนเก่า หรือเก็บรายละเอียดงานทั้งหมดในตำแหน่ง
  • การทำงาน 3-5 ปี คือ การสร้างมูลค่าในงานที่ทำของตำแหน่งเดิม ก่อนจะปรับหรือเติบโตไปในตำแหน่งถัดไป

อยากเปลี่ยนงาน ผ่าน KSA Model + Budget

ทั้งนี้วัฏจักรการทำก็จะวนเวียนในช่วงตำแหน่งประมาณ 1-6 ปี ในการเติบโต ในแต่ละช่วงการทำงาน หากพนักงานเก่งมาก (Talent) อาจใช้เวลาเพียง 2-3 ปี ในการเรียนรู้งานและพัฒนางานจนก้าวไปในตำแหน่งถัดไปก่อนเวลา ดังนั้นการเปลี่ยนงานระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ในตำแหน่งงานนั้น บางบริษัทอาจพิจารณาว่า ในปีนั้นๆ ไม่ถูกนำมาคำนวนเป็นประสบการณ์การทำงานได้

✅ เหตุผลเปลี่ยนงานแบบไหนที่ ต้นสังกัดหรือผู้ประกอบการอาจจะรับได้

  1. เรียนรู้งานในระดับหนึ่ง และอยากเรียนรู้มากขึ้น
  2. ถูกเลิกจ้างเพราะบริษัทเดิม เพราะมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เกิดจากทำงานผิดพลาด
  3. อยากเติบโตในสายงาน
  4. ลาออกเพราะไปเรียนต่อ
  5. อยากเปลี่ยนงานเพราะความท้าทาย
  6. รู้สึกตนเองไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร 

❌เหตุผลเปลี่ยนงานแบบไหนที่ ต้นสังกัดหรือผู้ประกอบการอาจจะรับไม่ได้

  1. งานหนัก ทำไม่ไหว (Hard work)
  2. ที่ทำงานเดิมไกล ทั้งที่ตนเองก็ยอมรับในการทำงานและอยู่เป็นปี (Location problem)
  3. เงินเดือนน้อยไป
  4. จัดการเวลาไม่ได้ และอยากมีเวลาว่างเยอะๆ
  5. ทะเลาะกับหัวหน้างาน

การเปลี่ยนงานแต่ละครั้งควรขอเงินเดือนเท่าไหร่ดี?

คำตอบคือ ไม่มีเกณฑ์ตายตัว แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะคำนึงถึงคือ

  • กระบอกเงินเดือนบริษัท หรือเงินเดือนของคนเก่า อาทิ หากมีการประกาศหาพนักงานช่วงเงินเดือน เช่น 25,000 – 35,000 บาท ถ้าฐานเงินเดือนเดิมอยู่ 20,000 บาท ผู้สมัครอาจไม่ได้ 35,000 บาทตามที่หวัง ยกเว้นแต่บริษัทอยากรับเข้าทำงานอาจให้ตามที่เรียก แต่ส่วนใหญ่มักให้ต่ำสุดของกระบอกคือ 25,000 บาท หรือเพิ่มอีกนิดหน่อยหากบริษัทนั้นมีสวัสดิการไม่เที่ยบเท่ากับบริษัทเดิม
  • ตำแหน่งที่สมัครงาน หากเราเป็น officer แล้วไปที่ใหม่ด้วยตำแหน่งสูงขึ้น ด้วยเงินเดือน 20,000 บาท แต่ตำแหน่งใหม่สูงขึ้นเป็น Sr. Offier ก็มีโอกาสที่จะเงินเดือนเพิ่มขึ้น 20 – 30% จากเงินเดือนเดิมได้
  • บริษัทส่วนใหญ่ให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นของเงินเดือนที่ไม่เกิน 30% ของฐานเงินเดือนเดิม แต่ก็จะให้อยู่ในช่วง 10%-20% เพื่อไม่กระทบกับโครงสร้างเงินเดือนหรือคนเก่ามากนัก

มุมมองของคนเปลี่ยนงานการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนจากฐานเงินเดือนเดิมควรมองปัจจัยอะไรบ้างดังนี้

    •  0% คือยอมเปลี่ยนงานด้วยค่างานที่เท่าเดิม หรือตำแหน่งงานที่ลดลง เปลี่ยนเพื่อความสบายใจ และที่เดิมกระบอกเงินเดือนเต็มแล้วหรือสุดกระบอกเงินเดือนของที่ใหม่ หรือมองว่าหาโอกาสเติบโตในองค์กรใหม่ได้
    • 10 – 15% คือ จำนวนงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ตำแหน่งเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ย้ายเพื่อแสวงหาการเติบโตทางสายอาชีพ ทั้งนี้อาจต้องวางแผนกเรื่องการปรับเงินของที่ใหม่ เพราะถ้าหากที่ใหม่เราย้ายไปกลางปีเราอาจจะไม่มีการปรับเงินในปีต่อไป
    • 20 – 30% คือ ตำแหน่งเพิ่มขึ้น งานเพิ่มขึ้น ความรับผิดชอบสูงขึ้น หรือต้องคุมทีมที่เยอะขึ้น รวมถึงสวัสดิการไม่เท่าบริษัทที่อยู่เดิม หรือต้องย้ายภูมิลำเนา
    • 30% ขึ้นไป คือ การโปรโมทไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นมากหรือตำแหน่งเปิดใหม่ที่ยังไม่มีใครทำ และอาจต้องทำอะไรใหม่หมด รวมถึงการคำนวนความเสี่ยงไม่ผ่านทดลองงานสูง หรือบางทีบริษัทที่ย้ายไปใหม่ไม่มีสวัสดิการหรือต้องย้ายภูมิลำเนา

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของพนักงานและองค์กร (Change Management) ที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ และการทำงานในสายงานของตนให้เก่งขึ้นและพัฒนาตามองค์กรได้ ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการก็ย่อมเห็นถึงความสำคัญของพนักงานอย่างแน่นอน เพราะการเปลี่ยนงานอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นทาง หากเรายังอยู่ในองค์กรในฐานะพนักงานคงต้องช่วยกันในการสร้างระบบการทำงานที่ดีและพัฒนาตนเองให้เป็นมืออาชีพ เชื่อว่าวันนั้นไม่ว่าเราจะเปลี่ยนตำแหน่งงานในองค์กรที่เราอยู่ หรือออกไปสู่องค์กรภายนอกก็ตาม ทุกที่ย่อมมองเห็นคุณค่าในตัวเราได้อย่างแน่นอน

 


PIYA VITTAYAVAROTKIT (ปิยะ วิทยาวโรจน์กิจ)
Head of Consulting
CONSYNC Group

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

สามารถกด Like เพื่อติดตามบทความดีๆ ก่อนใคร และเป็นกำลังใจให้กับทีมงานค่ะ


This will close in 23 seconds