food-office-syndrome

อาหารหรืออาหารเสริม กับ อาการ Office syndrome

โดย ดร.จุฑามาศ กลิ่นโซดา และ นางสาววิรดา จันทา
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร

 

           ประเทศไทยในปัจจุบันพบว่ามีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่ประกอบอาชีพพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มากกว่าวันละ 7 ชั่วโมง ภายในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่จำกัด ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างสะดวกนัก ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาที่เรียกว่า โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) หรือก็คือกลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ตลอดจนปวดเมื่อยตามอวัยวะส่วนอื่น ๆ ไล่ลงมาตั้งแต่คอ หลัง บ่า ไหล่ แขน หรือแม้กระทั่งบริเวณข้อมือ สายตาเมื่อยล้า และยังอาจก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคอ้วน โรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคปวดศีรษะเรื้อรัง โรคกระเพาะ โรคปวดหลังเรื้อรัง เป็นต้น[1]

                การรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรค Office Syndrome เหล่านี้ จำเป็นต้องรู้วิธีการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งประกอบได้ด้วยหลายวิธีการ เช่น หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ การเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน และอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีคือการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพเพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งสามารถเลือกรับประทานอาหารในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • อาหารหมัก : โยเกิร์ตที่เสริมโพรไบโอติก เมื่อบริโภคเข้าไปจะช่วยให้อาการท้องผูก ปวดท้อง และระบบขับถ่ายดีขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในคนที่นั่งทำงานนานๆ ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย[2] ×คีเฟอร์ ช่วยลดคอเลสเตอรอลรวม สามารถช่วยเกี่ยวกับภาวะโรคอ้วนที่อาจเกิดขึ้นได้[2] ×Kombucha มีโพรไบโอติกมากกว่า 50 ชนิด ซึ่งสนับสนุนการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหาร เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยปรับสมดุลและส่งผลดีต่อจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารในมนุษย์ เหมาะอย่างยิ่งกับคนที่พักผ่อนน้อย อ่อนเพลีย ทำงานหนัก ที่ส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติ[3]
  • อาหารจากพืช : ผักและผลไม้ต่างๆ ที่มีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย เช่น เมล็ดทานตะวัน ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง จมูกข้าว ถั่วต่างๆ ซึ่งมีวิตามินบี 1 ช่วยเรื่องอาการเหน็บชาปลายมือ ปลายเท้า อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องผูก เป็นตะคริว ปวดน่อง แขนขาไม่มีแรงได้[4] วิตามินบี 6 ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารสื่อประสาทก็คือ สารเซโรโทนิน (Serotonin) สารเคมีที่จำเป็นต่อสมองและระบบประสาท มีผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์[5] ผักผลไม้ สีเหลือง ส้ม เขียว ซึ่งมีสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา เป็นต้น
  • อาหารจากทะเล : ปลาทะเล และอาหารทะเล มีคอลลาเจนสูง ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและทำให้กล้ามเนื้อสามารถใช้งานได้ การบริโภคอาหารเสริมคอลลาเจนเป็นการช่วยสร้างมวลกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนในกล้ามเนื้อ[6][7] กุ้ง มีแร่ธาตุมากมายที่ช่วยรักษาสุขภาพของกระดูกอย่างแคลเซียม แมกนีเซียม และซีลีเนียมแล้ว กุ้งยังเป็นสุดยอดแหล่งโปรตีนที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งโปรตีนมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • อาหารจากสัตว์ : ไข่ นม เนื้อไม่ติดมัน อกไก่ เป็นแหล่งของโปรตีน ซึ่งโปรตีนยังเป็นองค์ประกอบของสารแอนติบอดี้ในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และยังเสริมสร้างกล้ามเนื้อและอวัยวะภายในร่างกายให้แข็งแรง[8]

          อาหารช่วยออฟฟิศซินโดรม

           จะเห็นว่าการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพของร่างกาย และมีส่วนช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม หรือโรคอื่นๆที่มีสาเหตุมาจากโรคออฟฟิศซินโดรมให้ดีขึ้นได้ แต่แค่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้ ต้องมีการออกกำลังกาย ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม จัดท่าทางในการทำงานให้ถูกต้องร่วมด้วย รวมทั้งการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคออฟฟิศซินโดรม และการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขนั่นเอง

 


References:

[1] ศศิพิมพ์ ปรีชม. 2556. ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้งานพื้นที่เปิดโล่งบริเวณรอบอาคารสำนักงานกับอาการออฟฟิศซินโดรม. การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรปริญญาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร

[2] Kaur H, Kaur G, Ali SA. Dairy-Based Probiotic-Fermented Functional Foods: An Update on Their Health-Promoting Properties. Fermentation. 2022; 8(9):425. 

[3] Sengun IY and Kirmizigul A. Probiotic potential of Kombucha. Journal of Functional Foods,2020; 104284,

[4] ทิพรดี คงสุวรรณ. คำแนะนำในการป้องกันการขาดสารอาหาร วิตามินบี 1 (thiamin). [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/dm-km/

[5] พวงทอง ไกรพิบูลย์. 2562. ภาวะขาดวิตามินบี-6 (Vitamin B-6 deficiency). [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://haamor.com/ภาวะขาดวิตามินบี6

[6] Jafari H, Lista A, Siekapen MM, Ghaffari-Bohlouli P, Nie L, Alimoradi H, Shavandi A. Fish Collagen: Extraction, Characterization, and Applications for Biomaterials Engineering. Polymers. 2020; 12(10):2230.

[7] Holwerda AM and Loon LJ C. The impact of collagen protein ingestion on musculoskeletal connective tissue remodeling: a narrative review. Nutrition Reviews. 2022; 80(6): 1497–1514.

[8] โรงพยาบาลพญาไท. 2565. อยากเสริมภูมิคุ้มกันด้วยอาหาร ต้องกินอะไรให้ได้ประไยชน์เต็มๆ. [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา: https://www.phyathai.com/article_detail/3955/th/อยากเสริมภูมิคุ้มกันด้วยอาหารต้องกินอะไรให้ได้ประไยชน์เต็มๆ?branch=PPG

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

สามารถกด Like เพื่อติดตามบทความดีๆ ก่อนใคร และเป็นกำลังใจให้กับทีมงานค่ะ


This will close in 23 seconds