อาหารลดเครียด-Burnout syndrome

อาหารตัวช่วย เมื่ออยู่ในภาวะ Burnout syndrome

 

ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์ office ความเครียดถ้ามีมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนวัยทำงานที่มีโอกาสเกิดความเครียดระหว่างทำงานได้ตลอดเวลา เป็นผลมาจากภาระงานหนักและความกดดันในการทำงาน หากปล่อยไว้สะสมนานวันจะเกิดเป็นความเครียดเรื้อรัง เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะ “Burnout syndrome หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางจิตที่มีลักษณะของความอ่อนล้าทางอารมณ์ หรือภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียด” ทำให้หมดแรงจูงใจในการทำงานและประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง ผลของความเครียดอาจทำให้สมดุลของระบบต่างๆ ภายในร่างกายผิดปกติ เช่น ระบบการเผาผลาญพลังงาน ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินอาหาร รวมถึงจุลินทรีย์ภายในร่างกาย โดยพบว่า ความเครียดสามารถรบกวนการทำงานของจุลินทรีย์ในลำไส้ของมนุษย์ได้ ทั้งนี้อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองได้ [1]

Foods-for-Burnout-Syndrome

ความเครียดยังมีผลต่อพฤติกรรมของคน ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกรับประทานอาหารของคนวัยทำงานมนุษย์ office โดยส่วนใหญ่จะเลือกรับประทานอาหารจานด่วน (Fast Food)  ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคออฟฟิศซินโดรม โรคหัวใจ เป็นต้น  การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาความเครียดลงได้ โดยอาหารที่สามารถบรรเทาความเครียดได้ มีดังต่อไปนี้

 

  1. อาหารหมักดองที่มีโพรไบโอติกหรือพรีไบโอติก เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เป็นต้น โดยการศึกษาพบว่าอาหารหรือเครื่องดื่มหมักที่มีโพรไบโอติกหรือพรีไบโอติกสามารถเปลี่ยนการทำงานของสมอง สามารถลดพฤติกรรมที่คล้ายความวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ [2] ทั้งนี้อาหารอาหารหมักดอง เช่น กิมจิและคอมบูชามีกรดอะมิโนอาจส่งผลดีต่ออารมณ์และความเครียด โดยผลิตภัณฑ์อาหารหมัก มักมีประโยชน์ต่อการทำงานของลำไส้และสมอง อีกทั้งอาหารที่เสริมโพรไบโอติกยังช่วยในการรักษาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและลดอาการโรคท้องร่วงติดเชื้อเฉียบพลัน [3,4]
  2. ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี เช่น กล้วย ส้ม ผักโขม บรอกโคลี ฝรั่ง ข้าว ถั่วเปลือกแข็ง เป็นต้น โดยบุคคลที่รับประทานผักตระกูลกะหล่ำ ผลไม้สีเหลือง สีส้ม สีแดง และพืชตระกูลถั่วในปริมาณที่สูงจะมีโอกาสที่จะเกิดความเครียดต่ำ [5] ทั้งนี้ปริมาณแมกนีเซียมในผักมีความสัมพันธ์กับความเครียดที่เกิดขึ้น โดยการเสริมแมกนีเซียมในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยลดความเครียดและคลายกล้ามเนื้อได้ดี [6]
  3. ดาร์กช็อกโกแลต โดยการศึกษาพบว่าโพลีฟีนอลของโกโก้สามารถลดความเครียดในบุคคลที่มีความเครียดสูงรวมถึงผู้ที่มีสุขภาพปกติได้ [7]
  4. ชาเขียว ในชาเขียวนั้นมีสาร แอล-ธีอะนีน (L-theanine) เป็นโปรตีนที่ช่วยทำให้สมองผ่อนคลาย จึงช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ อีกทั้งยังมีสารอิพิแกลโลคาเทชิน แกลเลต (Epigallocatechin gallate) หรือ EGCG ที่ช่วยลดการเหนื่อยล้าของร่างกายและจิตใจทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น [8]
  5. อาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารเหล่านี้มีกรดอะมิโน ทริปโตเฟน (Tryptophan) ที่เป็นสารตั้งต้นของการผลิตฮอร์โมนเชโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยทำให้รู้สึกอารมณ์ดี [8]

 

consync food for burnout syndrome

 

จะเห็นว่า การเลือกรับประทานอาหารทั้ง 5 กลุ่มดังที่กล่าวมา เป็นทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาความเครียด ช่วยบรรเทาความเครียดที่นำไปสู่ภาวะ Burnout syndrome นอกจากนี้ การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ ร่วมกับการใช้โพรไบโอติกและพรีไบโอติกในอาหารเสริมในการรักษาสมดุลร่างกาย แม้ว่าผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกมีความปลอดภัย แต่ในกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออาจมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะติดเชื้อจากโพรไบโอติกได้ ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ ก่อนจะบริโภคเสมอ [4] รวมไปถึงสารอาหารชนิดอื่นๆ เช่นกัน หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้เช่นกัน จึงควรปรับในปริมาณที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อควบคุมสมดุลของร่างกาย ไม่ให้ขาดหรือเกินจนเกินไป   

 

 

เขียนโดย ดร.จุฑามาศ กลิ่นโซดา และ นางสาวพรรวษา รัตนิยะ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 


References

[1] Teng M, Hao J, Lai-Yu K, Zhihong S, MinTze L, Heping Z. 2021.“Probiotic consumption relieved human stress and anxiety symptoms possibly via modulating the neuroactive potential of the gut microbiota”.  Neurobiology of Stress. s 14: 100294

[2] Ning Z, Yanan Z, Menglin L, Weiguang W, Zhenzhu L, Chongcheng X, Xunying H, Jintao L, Junwei H, Dong T, Jie M, Xing L, Shuangqing Z. 2020. “Efficacy of probiotics on stress in healthy volunteers: A systematic review and meta-analysis based on randomized controlled trials”. Brain and Behavior. 10: 01699

[3] Clare B. 2023. “Kombucha to Kimchi: Which Fermented Foods Are Best for Your Brain?”. Neuroscience.

[4] Elizabeth C. V, Susan L. 2010. “Use of probiotics in gastrointestinaldisorders: what to recommend?”. Therapeutic Advances in Gastroenterology. 5: 1177

[5] Simone Radavelli-B, Marc S, Lauren C. B, Nicola P.B, Catherine P.B, Richard W, Joanne M. D, Dianna J. M, Jonathan E. S, Robin M. D, Jonathan M. H, Joshua R. L. 2022. “Associations of specific types of fruit and vegetables with perceived stress in adults: the AusDiab study”. European Journal of Nutrition. 61: 2929–2938

[6] Gisèle P, André M, Marion T, Przemyslaw B, Natalia Y, Mohamed A, Lionel N, Etienne P. 2020. “Magnesium Status and Stress: The Vicious Circle Concept Revisited”. Nutrients MDPI. 12: 3672

[7] Ahmed Al S, Rabia. 2014. “Effects of chocolate intake on Perceived Stress; a Controlled Clinical Study”. Int J Health Sci (Qassim). 4: 393–401

[8] โรงพยาบาลบางปะกอก. 2564. “7 อาหารทานคลายเครียด”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/92

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

สามารถกด Like เพื่อติดตามบทความดีๆ ก่อนใคร และเป็นกำลังใจให้กับทีมงานค่ะ


This will close in 23 seconds